ดูบทความ
ดูบทความเกาหลีเหนือยั่วยุ ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ประท้วง แต่จีนเสียประโยชน์
เกาหลีเหนือยั่วยุ ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ประท้วง แต่จีนเสียประโยชน์
6 มีนาคม 2017 เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธ 4 ลูกไปยังทะเลตะวันออก (ทางตอนเหนือญี่ปุ่น) ขีปนาวุธ 3 ลูกไปไกลถึง 1,000 กิโลเมตรก่อนตกทะเล นักวิเคราะห์คิดว่าไม่ใช่ขีปนาวุธพิสัยไกล เพราะเกาหลีเหนือไม่มีขีดสามารถยิงพร้อมกันหลายลูก
Hwang Kyo-ahn รักษาการประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประณามว่าเป็นการยั่วยุ เป็นภัยคุกคามจวนตัว (imminent threat) ต่อชีวิตและความมั่นคงของประชาชน
รัฐบาลญี่ปุ่นประท้วงรุนแรงเพราะขีปนาวุธตกลงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเล (EEZ)
ไม่ถึงเดือนก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธชนิดใหม่ชื่อ Pukguksong-2 ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงแข็ง ติดตั้งบนยานพาหนะเคลื่อนที่ ประกาศว่าสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ ส่วนหนึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาจากขีปนาวุธยิงจากเรือดำน้ำ (SLBMs)
ขีปนาวุธ Pukguksong-2 เริ่มทดสอบครั้งแรกเมื่อมกราคมที่ผ่านมา ครั้งนั้นไปได้ไกลถึง 500 กิโลเมตร แหล่งข่าวทางทหารเกาหลีใต้ระบุว่ามีพิสัย 2,000-2,500 กิโลเมตร
การทดสอบขีปนาวุธในไตรมาสแรกปีนี้เห็นความก้าวหน้าของเกาหลีเหนืออีกขั้น
ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD :
เหตุการณ์ที่เกิดควบคู่คือเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เริ่มติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ Terminal High Altitude Area Defense (THAAD) ในเกาหลีใต้ หลัง 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลงเมื่อกรกฎาคมปีก่อน ตามกำหนดจะให้แล้วก่อนสิ้นปี 2017
THAAD 1 ชุด ประกอบด้วยยานยนต์ติดจรวด 6 คันๆ ละ 8 ลูก รวมทั้งหมด 48 ลูก มีระบบเรดาห์และระบบควบคุมแยกต่างหาก ราคาชุดละ 1.3 พันล้านดอลลาร์ รัฐบาลเกาหลีใต้จะเป็นผู้จัดหาพื้นที่ติดตั้งและสิ่งอำนวยความสะดวก ส่วนสหรัฐฯ ออกค่าระบบและการซ่อมบำรุง
Yoo Jeh-seung รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมให้เหตุผลว่าเนื่องจากภัยคุกคามจากขีปนาวุธและนิวเคลียร์เกาหลีเหนือชัดเจนขึ้น รัฐบาลเกาหลีเหนือทดสอบอาวุธทั้ง 2 ชนิดหลายครั้ง จึงต้องเร่งติดตั้งระบบ THAAD
ประธานาธิบดี ปาร์ค กึน-เฮ (Park Geun-hye) กล่าว (ในขณะดำรงตำแหน่ง) ว่า “ประชาคมโลกควรเข้าใจว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ไม่มีเจตนามุ่งเป้าต่อประเทศอื่นๆ หรือคุกคามประเทศอื่นๆ” ระบบ THAAD มีเพื่อต้านภัยเกาหลีเหนือเท่านั้น เป็นอาวุธเพื่อป้องกันตัวโดยแท้ ในฐานะประธานาธิบดีจำต้องปกป้องประเทศ
ท่าทีจีนต่อ THAAD :
ฝ่ายจีนให้ข้อมูลว่า THAAD สกัดกั้นขีปนาวุธที่ความสูงระดับ 40-150 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก แต่ขีปนาวุธของเกาหลีเหนือขึ้นไปสูงเพียง 20 กิโลเมตร ระบบนี้จึงไม่ช่วยสกัดขีปนาวุธเกาหลีเหนือ
ที่จีนเป็นกังวลมากคือเรดาห์ของ THAAD มี 2 ระบบ คือระบบที่ตรวจจับได้ไกลถึง 2,000 กิโลเมตรกับแบบ 600 กิโลเมตร เกาหลีใต้จะติดตั้งระบบรัศมี 600 กิโลเมตร แต่หากจะเปลี่ยนเป็นแบบที่มีรัศมีไกลถึง 2,000 กิโลเมตรจะทำได้ในไม่กี่ชั่วโมง เพราะเปลี่ยนแค่ซอฟแวร์เท่านั้น
ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงเห็นว่า THAAD ไม่ได้มีเพื่อต้านเกาหลีเหนือ แต่เป็นเกมของมหาอำนาจ “ฝ่ายจีนไม่พอใจอย่างยิ่งและขอคัดค้านเรื่องนี้อย่างรุนแรง” เพราะไม่ส่งเสริมให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตปลอดนิวเคลียร์และไม่ส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ การติดตั้งระบบอาวุธดังกล่าวจะยิ่งทำให้สถานการณ์ซับซ้อน กระทบความมั่นคงทางยุทธศาสตร์จีน
ในเบื้องต้นทางการจีนตอบโต้ด้วยการเตือนชาวจีนที่จะเดินทางเที่ยวเกาหลีใต้ พร้อมกับเตือนบริษัททัวร์ที่เสนอโปรแกรมเที่ยวเกาหลีใต้ บรรษัทเกาหลีใต้ที่โดนกระทบหนักคือ Lotte Group ผู้ให้รัฐบาลใช้พื้นที่ของตนติดตั้งระบบ THAAD สื่อเกาหลีใต้รายงานว่าทางการจีนสั่งปิดกิจการ Lotte Group 23 แห่งในจีนด้วยข้อหาไม่ผ่านเกณฑ์ป้องกันอัคคีภัย
การกีดกันท่องเที่ยวเกาหลีกระทบเศรษฐกิจบ้าง แต่อยู่ในกรอบจำกัด เป็นเชิงสัญลักษณ์มากกว่า ฝ่ายเกาหลีใต้ประเมินแต่แรกว่าจีนคงไม่ตอบโต้เศรษฐกิจรุนแรง เพราะกระทบทั้ง 2 ฝ่าย อีกทั้งละเมิดกฎองค์การค้าโลก
วิเคราะห์ THAAD :
ประการแรก เกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามมากเพียงใด
ปี 2016 เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธมูซูดาน (Musudan) ทั้งหมดถึง 8 ลูก มีเพียงลูกเดียวที่ประสบผลสำเร็จ ทั้งๆ ที่เป็นขีปนาวุธหลัก แหล่งข่าวตะวันตกเชื่อว่ามีถึง 1,000 ลูกแต่ขาดการทดสอบ
หากมองว่ามีพันลูกจะเห็นเป็นภัยคุกคามร้ายแรง แต่หากรู้ว่าทดสอบ 8 ครั้งผ่านเพียงครั้งเดียวเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเกาหลีเหนือมักอวดอ้างคำโต ที่สำคัญคือต่อหน้าสาธารณะขั้วสหรัฐฯ ยึดถือคำอวดอ้างอย่างเป็นจริงเป็นจัง
ในทำนองเดียวกันขีปนาวุธพิสัยไกลกับหัวรบนิวเคลียร์ยังอยู่ในขั้นทดลองเท่านั้น ไม่แน่ชัดว่ามีความน่าเชื่อถือใช้การได้จริงเพียงใด
ประการที่ 2 เกาหลีใต้ใช้มุมมองอันคับแคบ
รัฐบาลเกาหลีใต้ใช้เหตุผลเดียวคือต้านเกาหลีเหนือ ทำเป็นละเลยการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ ทั้งๆ ที่เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าการติดตั้งระบบ THAAD เป็นเรื่องของเกมสงครามนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจ นั่นหมายความว่าโอกาสที่เกาหลีใต้จะถูกโจมตีด้วยนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของสมรภูมินิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจ
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งถ้ายึดเกาหลีใต้เป็นที่ตั้ง รัฐบาลเกาหลีใต้จำต้องพึ่งพาความมั่นคงจากสหรัฐฯ จำต้องร่วมมือกับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะอธิบายด้วยมุมมองประวัติศาสตร์ หรือด้วยบริบทปัจจุบัน ปรปักษ์สำคัญของเกาหลีใต้คือเกาหลีเหนือ ไม่ว่าประเทศนี้จะมีนิวเคลียร์ มีขีปนาวุธหรือไม่ก็ตาม เพียงแต่ต้องระวังไม่ยั่วยุจีนกับรัสเซียเกินเหตุ จนการพยายามสร้างความมั่นคงกลายเป็นต้นเหตุความไม่มั่นคง
เป็นตรรกะที่รัฐบาลเกาหลีใต้ใช้มาตลอด ที่จำเป็นจริงๆ คือจัดการเกาหลีเหนือเท่านั้น
ขยายความได้ว่าเกาหลีใต้ไม่คิดให้ตัวเองเป็นพื้นที่สมรภูมิดังสมัยสงครามเกาหลีเมื่อทศวรรษ 1950 อีกต่อไป การมีกองทัพ มีอาวุธจำนวนมากไม่ควรมีเพื่อก่อสงคราม แต่เพื่อป้องกัน “ไม่ให้เกิดสงคราม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาหลีใต้ไม่ควรทำสงครามปะทะกับจีน
ควรระลึกว่าสงครามเกาหลีเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐฯ คิดใช้อาวุธนิวเคลียร์ ดีที่ เกออร์กี มาเลนคอฟ (Georgy Malenkov) นายกฯ โซเวียต (premier) คนใหม่เรียกร้องให้ประธานเหมาเจรจาหยุดยิง (เหตุผลสำคัญอีกข้อคือการเมืองภายในกำลังวุ่นวาย มาเลนกอฟอยู่ในอำนาจเพียง 2 สัปดาห์) สอดคล้องกับท่าทีของผู้นำสตาลินที่ไม่ต้องการเห็นการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ค่าย ในเวลาต่อมาประธานเหมาเริ่มเห็นด้วย และเมื่อมีกระแสข่าวว่าประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ (Eisenhower) จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ 2 ฝ่ายจึงประกาศหยุดยิง มีผู้เสียชีวิตจากสงครามทั้งสิ้น 3 ล้านคน เกือบทั้งหมดคือคนเกาหลี
จากนั้นสหรัฐฯ ประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 1958 ในปี 1967 มีสูงถึง 950 หัวรบ และประกาศว่าได้ถอนกลับไปในปี 1991 ในขณะที่ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าถอนกลับทั้งหมดจริงๆ ในปี 1998
ปัจจุบันสหรัฐฯ ไม่จำต้องประจำการอาวุธนิวเคลียร์ที่เกาหลีใต้อีกแล้ว เพราะด้วยระบบอาวุธที่มีอยู่สามารถโจมตีเกาหลีเหนือด้วยนิวเคลียร์ได้ภายในเวลา 2 ชั่วโมงหรือเร็วกว่านั้น
ประเด็นที่สำคัญพอกันและอาจสำคัญกว่าคือสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่คิดทำการใดๆ ที่กระทบการค้าการลงทุนกับจีน เช่นเดียวกับที่จีนจะต้องคิดหนักหากจะตอบโต้ด้วยมาตรการเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลัง
วิเคราะห์องค์รวม :
การยิงทดสอบขีปนาวุธระดับพิสัย 1,000 กิโลเมตรไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกแล้ว 1-2 ปีที่ผ่านมามีการทดสอบหลายครั้งหลายรุ่น อีกทั้งครั้งนี้ทางการเกาหลีเหนือเตือนล่วงหน้าแล้วว่าจะทดสอบขีปนาวุธตอบโต้การซ้อมรบทางทะเลร่วมระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ ถ้าใช้เหตุผลเรียบง่ายนี้การยิงขีปนาวุธ 4 ลูกล่าสุดไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่
ที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่อีกอย่างคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แม้กระทั่งจีน อาจรู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเกิดเหตุดังกล่าว การเตรียมยิงถึง 4 ลูกจะมีการเคลื่อนไหวที่สังเกตง่าย เพียงแต่ไม่มีใครสามารถห้ามรัฐบาลเกาหลีเหนือ
ญี่ปุ่นพูดเต็มปากว่าถูกคุกคาม ผู้นำเกาหลีใต้ถึงกับใช้คำว่าเป็นภัยคุกคามจวนตัว (imminent threat) แต่ขั้วสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ได้ประโยชน์มากสุด โดยเฉพาะในช่วงเกาหลีใต้อยู่ระหว่างการติดตั้ง THAAD ฝ่ายที่เสียประโยชน์โดยตรงคือจีน
เหตุการณ์ยิงขีปนาวุธ 4 ลูก จึงลงเอยด้วยจีนเป็นฝ่ายเสียหาย ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้รับประโยชน์
สิ่งที่เกาหลีเหนือทำเป็นการยั่วยุจีนมากกว่า บ่งชี้ความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่นระหว่างรัฐบาลเกาหลีเหนือกับจีน เป็นไปได้ว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เกาหลีเหนืออาจทำการยั่วยุอีก ตราบใดที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยังมีประเด็นที่ไม่ลงตัว
รวมความแล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเอื้อการแผ่อิทธิพลของขั้วสหรัฐฯ สื่อ The Rodong Sinmun ของเกาหลีเหนือนำเสนออย่างน่าคิดว่าการติดตั้งระบบขีปนาวุธ THAAD มีแต่สร้างความขัดแย้งแบบยุคสงครามเย็น เป็นส่วนหนึ่งของแผนความร่วมมือ 3 ประเทศ คือสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตามยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียเพื่อปิดล้อมจีนกับรัสเซีย เอื้อให้สหรัฐฯ เป็นเจ้าโลก ครอบงำภูมิภาค
ที่น่าคิดอีกข้อคือคำถามที่ว่าพฤติกรรมของเกาหลีเหนือสนับสนุนการแผ่อำนาจดังกล่าวหรือไม่
ระบบ THAAD เริ่มติดตั้งแล้วและน่าจะเสร็จตามกำหนดตามแผน หากจะมีอะไรใหม่ต้องรอจนกว่ารัฐบาลทรัมป์จะมีนโยบายชัดเจนต่อเกาหลีเหนือ และอาจต้องรอจนกว่าเกาหลีใต้ได้ผู้นำใหม่ ระหว่างนี้เป็นโอกาสที่ญี่ปุ่นแสดงบทบาทเด่น
ประเทศที่เกี่ยวข้องกับคาบสมุทรเกาหลีจะพัฒนาและสะสมอาวุธมากขึ้น
8 มีนาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------------
บรรณานุกรม:
- (2nd LD) N. Korea employs SLBM tech in new intermediate-range missile: military. (2017, February 13). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/northkorea/2017/02/13/0401000000AEN20170213008552315.html
- (4th LD) Seoul says N.K. fires four ballistic missiles; three fall in Japanese waters. (2017, March 6). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/northkorea/2017/03/06/0401000000AEN20170306001154315.html
- Beal, Tim. (2005). North Korea: The Struggle Against American Power. London: Pluto Press.
- China "strongly dissatisfied" with U.S. missile deployment in ROK. (2016, July 8). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2016-07/08/c_135498220.htm
- China’s retaliation against THAAD may clash with WTO, FTA rules: foreign minister. (2017, March 5). The Korea Herald. Retrieved from http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20170305000187
- Dockrill, Michael L., & Hopkins, Michael F. (2006). The Cold War 1945-91 (2nd Ed.). New York: Palgrave Macmillan.
- Johnson, Jesse. (2017, February 13). North Korea missile test delivers early challenge to Trump and Abe. The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2017/02/13/national/politics-diplomacy/north-korea-missile-test-delivers-early-challenge-trump-abe/#.WKG8DdJ97IU
- Lotte faces difficulties on 50th anniversary of foundation. (2017, March 7). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/business/2017/03/07/0501000000AEN20170307006100320.html
- Munroe, Tony., Kim, Jack. (2017, January 1). North Korea's Kim says close to test launch of ICBM. Reuters. Retrieved from http://www.reuters.com/article/us-northkorea-kim-idUSKBN14L0RN
- S. Korea begins process to deploy THAAD: military. (2017, March 7). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2017/03/07/0301000000AEN20170307005700315.html
- Shin Hyon-hee. (2016, July 8). S. Korea, U.S. to deploy THAAD system here by end-2017. The Korea Herald. Retrieved from http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20160708000721
- Song Sang-ho. (2016, July 11). (LEAD) Park strongly defends THAAD deployment decision.Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2016/07/11/11/0301000000AEN20160711004751315F.html
- Spotlight: U.S. deploys THAAD in S. Korea with hidden agenda. (2016, July 29). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2016-07/29/c_135549716.htm
- THAAD Deployment in S. Korea Disturbs Regional Peace and Security. (2016, August 18). The Rodong Sinmun. Retrieved from http://www.rodong.rep.kp/en/index.php?strPageID=SF01_02_01&newsID=2016-08-18-0010
- Wit, Joel S., & Sun, Young Ahn. (2015, April 8). North Korea’s Nuclear Futures: Technology and Strategy. US-Korea Institute at SAIS. Retrieved from http://38north.org/wp-content/uploads/2015/02/NKNF-NK-Nuclear-Futures-Wit-0215.pdf
-----------------------------
26 กันยายน 2561
ผู้ชม 3789 ครั้ง
แสดงความคิดเห็น