ดูบทความ
ดูบทความปูตินย้ำต้องการสนธิสัญญาความมั่นคง ทาง 2 แพร่งของ 3 ฝ่าย
ปูตินย้ำต้องการสนธิสัญญาความมั่นคง ทาง 2 แพร่งของ 3 ฝ่าย
ปูตินกับไบเดนต่างไม่ถอยและระวังไม่ให้สถานการณ์ยูเครนตึงเครียดกว่านี้ การเจรจาระหว่าง 2 ผู้นำโลกน่าจะเป็นจุดเริ่มของการเจรจาความมั่นคงระหว่างรัสเซียกับฝ่ายสหรัฐฯ ตลอดปีหน้า (2022)
ผลการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่างปูตินกับไบเดนเมื่อคืนวันที่ 30 ธันวาคม หลังอียูพูดชัดไม่สนใจ “เส้นต้องห้าม” ของรัสเซีย
ฝ่ายรัสเซียย้ำจุดยืนเดิมต้องการข้อตกลงความมั่นคง ด้านประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่าจะไม่ส่งอาวุธที่ใช้โจมตีข้าศึกเข้ายูเครน ขอรัสเซียไม่สร้างความตึงเครียด
นัดหมายประชุมสุดยอด 2 ผู้นำโลกในต้นปีหน้าเหมือนเดิม
วิเคราะห์ :
กลยุทธ์ของประธานาธิบดีปูตินคือถ้าฝ่ายตะวันตกไม่อยากให้เกิดความตึงเครียดก็ทำข้อตกลงความมั่นคงร่วมกัน พร้อมกับส่งกำลังพลกว่าแสนนายประชิดชายแดนตะวันตก เป้าหมายเบื้องต้นคือบุกยูเครน
ฝ่ายสหรัฐฯ กับพวกเตือนว่าจะคว่ำบาตรรัสเซียอย่างรุนแรง พร้อมกับสอดแนมการเคลื่อนไหวทางทหารของรัสเซียอย่างใกล้ชิด
ปูตินหวังหยุดนโยบายนาโตขยายตัว (NATO enlargement) ด้วยสนธิสัญญา แม้จะมุ่งความมั่นคงของรัสเซียแต่จะมีผลต่อระเบียบโลก คาดว่าต้องใช้เวลาเจรจาหลายเดือนหรือเป็นปี ขึ้นกับว่าครอบคลุมประเด็นใดบ้าง
หนึ่งในข้อเรียกร้องหลักที่รัสเซียต้องการคือนาโตต้องไม่ขยายตัวมาทางฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะส่วนที่ติดชายแดนรัสเซีย
เป้าหมายของรัสเซียชัดเจน ส่วนของสหรัฐฯ ยืดหยุ่นได้มากกว่า และนาโตยังไม่พร้อมปกป้องยูเครน แต่หากรัสเซียบุกยูเครนหรือทำอะไรบางอย่างที่รุนแรงย่อมกระทบการค้าระหว่างกัน รวมถึงการขายก๊าซธรรมชาติแก่อียูด้วย ทำให้อียูต้องตัดสินใจนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศอื่นแม้ต้นทุนสูงขึ้นมาก เหล่านี้เป็นทางสองแพร่งที่ทั้ง 3 ฝ่ายต้องไตร่ตรอง
ความตึงเครียดยูเครนเป็นเรื่องเก่าเมื่อ 9-10 ปีก่อน ยุทธศาสตร์ฝ่ายตะวันตกคือให้ยูเครนมาเป็นพวก (ทำนองเดียวกับโปแลนด์) เป็นสมาชิกนาโตเพื่อกองทัพนาโตจะประชิดชายแดนรัสเซีย ซึ่งรัสเซียยอมไม่ได้ เป็น “เส้นต้องห้าม” ที่ประกาศไว้เมื่อนานมาแล้ว บัดนี้รัสเซียให้ทางออกคือทำสนธิสัญญาไม่รุกรานต่อกัน การตัดสินใจตอนนี้จึงอยู่ที่ฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะมองว่าความมั่นคงของตนคือทำให้ประเทศอื่นๆ เป็นเบี้ยล่างไม่อาจต่อกรด้วย การเจรจาเพื่อความมั่นของ 2 มหาอำนาจจะเป็นประเด็นสำคัญตลอดปีหน้า (2022)
31 ธันวาคม 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ยูเครนเป็นประเทศที่น้อยคนจะรู้จัก เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต เริ่มเป็นรัฐอธิปไตยหลังสิ้นสุดสงครามเย็น ตั้งแต่ปลายปี 2013 เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่บานปลายจนรัสเซียส่งกองกำลังเข้ายึดไครเมีย และเกิดสงครามกลางเมืองขนาดย่อมในฝั่งตะวันออกของประเทศ แต่ความสำคัญของสถานการณ์ยูเครนในขณะนี้คือการเผชิญหน้า ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือรัสเซีย อีกฝ่ายคือสหรัฐฯ กับพันธมิตรอียู การเผชิญหน้าครั้งนี้อาจรุนแรงยืดเยื้อกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากรัฐบาลรัสเซียสู้ไม่ถอย
การเดินเกมและผลประโยชน์ของขั้วยูเครนตะวันตก
รัฐบาลรักษาการยูเครนดำเนินนโยบายที่อิงฝ่ายชาติตะวันตกอย่างเต็มที่ ใช้ข้ออ้างสารพัดเพื่อดึงให้ชาติตะวันตกเข้ามาปกป้องอธิปไตย ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าชาติตะวันตกได้ประโยชน์จากการนี้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ฝ่ายที่ได้ประโยชน์แน่นอนคือพวกของอดีตนายกฯ ทีโมเชงโก ที่สามารถยืมมือชาติตะวันตกมาอยู่กับพวกตน
บรรณานุกรม :
- Biden to speak with Putin on Thursday at Russian leader's request. (2021, December 30). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2021/12/29/politics/biden-putin-call/index.html
- Biden-Putin call ushers in new phase of diplomacy. (2021, December 30). Politico. Retrieved from https://www.politico.com/news/2021/12/30/biden-putin-call-526280
- Russia Needs Legally Binding Agreements on Security Guarantees, Kremlin Says After Putin-Biden Call. (2021, December 30). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/20211230/putin-biden-call-came-to-end-kremlin-spokesman-confirms-1091924744.html
31 ธันวาคม 2564
ผู้ชม 445 ครั้ง